รู้จัก !! พายุหมุนเขตร้อน ตัวการทำฝนตกหนัก

พายุหมุนเขตร้อน คือ พายุหมุนที่เกิดเหนือทะเล หรือมหาสมุทรในเขตร้อน

พายุดังกล่าวเมื่ออยู่ในสภาพที่เจริญเติบโตเต็มที่จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่นักประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก
โดยมีลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ ส่วนซีกโลกใต้ลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางเดียวกับเข็มนาฬิกา และยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุดบางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (175 นอต)
ก็จะเกิดผลกระทบมีฝนตกหนักมาก บางครั้งมีพายุฟ้าคะนอง ฝนและเมฆมีลักษณะไม่เหมือนกันนักในแต่ละลูก
พายุหมุนเขตร้อน จะมีชื่อเรียกต่างกันตามบริเวณที่เกิดขึ้น
– อ่าวเบงกอล / มหาสมุทรอินเดีย
เรียกว่า “ไซโคลน” (CYCLONE)
– มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโกและทางด้านทะเลฝั่งตะวันตกของเม็กซิโก
เรียกว่า “เฮอร์ริเคน” (HURRICANE)
– มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกกับมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ / ทะเลจีนใต้
เรียกว่า “ไต้ฝุ่น” (TYPHOON)

การแบ่งพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุ ดังนี้
1. พายุดีเปรสชั่น (DEPRESSION)
มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต(63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
2. พายุโซนร้อน (TROPICAL STORM) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต(63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
3. ไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน (TYPHOON OR HURRICANE)
มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ผลกระทบของพายุหมุนเขตร้อนทีมีต่อประเทศไทย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากพายุแปรผันตามความรุนแรงของพายุ เมื่อพายุมีกำลังแรงในขั้นดีเปรสชันความเสียหายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น เนื่องจากฝนตกหนักและอุทกภัยที่เกิดขึ้นตามมา
เมื่อพายุมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น จะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกมากทั้งชีวิตและทรัพย์สินเนื่องจากฝนตกหนัก อุทกภัย ลมพัดแรงจัด ในทะเลมีคลื่นสูงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ และมีคลื่นซัดฝั่ง พายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตได้นับแสนคน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2513 ที่ประเทศบังคลาเทศ ในครั้งนั้นพายุไซโคลนในมหาสมุทรอินเดียมีความรุนแรงมากเคลื่อนตัวผ่านบริเวณแกงจีส์และพรามบุตรา (Ganges-Bramaputra) เมื่อวันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน มีผลกระทบต่อประชาชนกว่า 3 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 250,000 คน และยังมีอันตรายอย่างอื่นตามมาอีก เช่น ความอดอยากขาดแคลนและโรคระบาด
สำหรับพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุอ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนที่มีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยน้อย จากสถิติในรอบ 48 ปีที่ผ่านมามีเพียง 11 ครั้ง ที่มีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น (ไม่ถึง 10 % ของจำนวนพายุทั้งหมดที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย) และในจำนวน 11 ครั้งดังกล่าวมีเพียงครั้งเดียวที่พายุเคลื่อนเข้ามา ขณะมีกำลังแรงเป็นไต้ฝุ่น ได้แก่ ไต้ฝุ่น “เกย์” ที่เคลื่อนขึ้นฝั่งจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532

ประโยชน์และโทษของพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้น
ประโยชน์
พายุที่อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน มีประโยชน์ในแง่ที่ก่อให้เกิดฝนตกปริมาณมากซึ่งช่วยคลี่คลายสภาวะความแห้งแล้ง และสามารถกักเก็บน้ำไว้ตามแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อใช้ในช่วงที่มีฝนน้อย
โทษ
พายุดีเปรสชันคืออุทกภัยซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง และโรคระบาดที่เกิดตามมาหลังจากเกิดอุทกภัย และเมื่อพายุมีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกจากวาตภัย จะรุนแรงจนทำให้สิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงเสียหาย กิ่งไม้ต้นไม้หักโค่น และหากเป็นไต้ฝุ่นจะยิ่งมีความเสียหายมากขึ้น ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. ต้นไม้ล้มถอนรากถอนโคน
เรือกสวน ไร่นาเสียหาย เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าช๊อต อาจเกิดเพลิงไหม้ได้

2. บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงพังทลาย ชิ้นส่วนของบ้านถูกลมพายุพัดปลิว เป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง บ้านเรือน และผู้คนที่พักอาศัยริมทะเลอาจถูกคลื่นใหญ่ซัดและม้วนลงทะเล

3. ฝนตกหนักมากทั้งวันทั้งคืน จนทำให้เกิดน้ำป่าและแผ่นดินถล่ม

4. ในทะเลมีคลื่นลมแรงจัดมากเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็ก และอาจมีคลื่นใหญ่ซัดชายฝั่ง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากจนท่วมอาคารบ้านเรือนริมทะเลได้

ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา
 

#ทีวี360องศา #พยากรณ์อากาศ #สภาพอากาศ #อากาศวันนี้ #อากาศพรุ่งนี้ #ฝนตก #ฝนตกหนัก #ฤดูฝน #พายุหมุนเขตร้อน #พายุ #ดีเปรสชัน #โซนร้อน #ประโยชน์ #โทษ #อากาศ #กรมอุตุนิยมวิทยา #สถานีรักโลก