สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (GLO)
เปิดโครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชน ปีที่ 5

     เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดโครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชน ปีที่ 5 ณ บ้านสวนบางเตยโฮมสเตย์ ชุมชนเกาะลัดอีแท่น ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

     ภายในงาน.. รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงที่มาของโครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชนว่า.. “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) และมุ่งหมายที่จะขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการองค์กร และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ”

     ในปีนี้มีชุมชนที่สนใจได้ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 21 ชุมชน โดยมีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก 10 ชุมชน ได้แก่
1. ชุมชนบ้านโอ่งอ่างเกาะเกร็ด ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
2. วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
3. ชุมชนบ้านมุงเหนือ ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
4. ชุมชนห้วยไร่ ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
5. ชุมชนบ้านโพธิ์ตาก ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย
6. วิสาหกิจชุมชนเกษตรไม้ผลตำบลภูเงิน ตำบลภูเงิน อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ
7. วิสาหกิจชุมชนไทดำบ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
8. ชุมชนบ้านนาแหลมมะขาม ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด
9. ชุมชนพ่อตาหินช้าง ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
10. ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเขาชัยสน ตำบลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

     ซึ่งโครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชน ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งหมด 47 ชุมชน เพื่อส่งเสริมอาชีพและขยายผลการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาว ผ่านแนวคิดในการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาการบริหารจัดการชุมชน ด้านผลิตภัณฑ์และบริการชุมชน มีเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสภาพแวดล้อมวิถีชีวิตให้เอื้อต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว

     ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม สร้างรายได้ให้กับชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังก่อเกิดการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต้องอนุรักษ์และถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลัง เพื่อไม่ให้สูญหายไปกับวิถีสังคมในปัจจุบัน

Total Views: 449 ,